วันเสาร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ระบบโครงสร้างร่างกาย



ของร่างกายมนุษย์เรานั้นเริ่มต้นจาก หน่วยที่เล็กที่สุดของร่างกายเรียกว่า เซลล์ (Cell) เซลล์หลาย ๆ เซลล์รวมกันกลายเป็น เนื้อเยื่อ (Tissue) เนื้อเยื่อหลายชนิดจะรวมกันเกิดขึ้นเป็น อวัยวะ (Organ) เพื่อทำหน้าที่ต่าง ๆ ให้แก่ร่างกาย โดยในร่างกายของมนุษย์นั้นมีอวัยวะอยู่มากมายหลายชนิดด้วยกัน ซึ่งอวัยวะหลาย ๆ อวัยวะที่ทำหน้าที่ประสานกันก็จะรวมกลุ่มทำงานร่วมกันเป็นระบบ เรียกว่า ระบบอวัยวะ ในร่างกายมนุษย์นั้นมีระบบอวัยวะอยู่หลายระบบด้วยกัน โดยจะแบ่งออกเป็นระบบต่าง ๆ ตามหน้าที่ เช่น ระบบผิวหนัง ระบบกล้ามเนื้อ ระบบกระดูก เป็นต้น


 ระบบต่าง ๆ เหล่านี้แม้จะทำหน้าที่แตกต่างกันออกไปแต่ก็ยังทำงานประสานสอดคล้องกัน หากระบบใดระบบหนึ่งในร่างกายทำงานผิดพลาด หรือมีความผิดปกติเกิดขึ้น ก็จะส่งผลต่อระบบอื่น ๆ ในร่างกาย และส่งผลให้ร่างกายของเราเกิดความผิดปกติขึ้น อีกทั้งยังส่งผลให้เกิด   การเจ็บป่วยขึ้นได้ ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องทำการศึกษาระบบต่าง ๆ ในร่างกายของเรา เพื่อให้เกิดการปฎิบัติ และดูแลรักษาร่างกายของเราได้อย่างถูกต้องเหมาะสม  อีกทั้งช่วยส่งเสริมการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกายของเราให้ดำเนินไปได้อย่างเป็นปกติ
     
ระบบผิวหนัง (Skin System)
          ผิวหนัง มีลักษณะเป็นเนื้อเยื่อที่อยู่ชั้นนอกสุดของร่างกายปกคลุมห่อหุ้ม
 ร่างกายทั้งหมดของเราไว้ ผิวหนังของผู้ใหญ่คนหนึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 3,000
ตารางนิ้ว มีความหนาประมาณ  1 – 4 มิลลิเมตร โดยความหนาของผิวหนังจะแตกต่าง
กันไปตามอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย และบริเวณที่ถูกเสียดสี โดยผิวหนังส่วนที่หนาที่สุด   
ของร่างกายคือ  บริเวณฝ่ามือ และฝ่าเท้า ส่วนผิวหนังส่วนที่บางที่สุดของร่างกายคือ             บริเวณหนังตา และหนังหู
 ภายในผิวหนังนั้นมีปลายประสาทรับรู้ความรู้สึกอยู่มากมายเพื่อรับรู้การสัมผัส   ความเจ็บปวด และอุณหภูมิร้อนเย็นต่าง ๆ นอกจากนี้
บนผิวหนังยังมีรูเล็ก ๆ ซึ่งเรียกว่า รูขุมขน ซึ่งเป็นรูเปิดของขุมขน ท่อต่อมไขมัน และต่อมเหงื่อ ผิวหนังสามารถยืดหยุ่น ได้มาก และ
ผิวหนังบนร่างกายส่วนใหญ่สามารถเลื่อนไปเลื่อนมาได้ แต่ก็มีบางส่วนที่ติดแน่นกับอวัยวะ เช่น หนังศีรษะ ด้านนอกของใบหู ฝ่ามือ และฝ่าเท้า และตามรอยพับของข้อต่อต่าง ๆ นอกจากนี้ ผิวหนังบริเวณฝ่ามือ และฝ่าเท้าจะมีรอยนูนอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะปลายนิ้วมือจะมีสันนูนเรียงกันเป็น  ร้อยหวาย หรือรอยก้นหอย ซึ่งรอยนี้จะต่างแตกกันออกไปในแต่ละบุคคล และบริเวณผิวหนังที่มีกล้ามเนื้อเกาะอยู่ จะเกิดเป็นรอยย่นได้เมื่อกล้ามเนื้อเกิดการหดตัว เช่น บริเวณใบหน้ามีกล้ามเนื้อยึดติดที่ผิวหนังมากเมื่อแสดงอารมณ์โกรธ กลัว ยิ้มแย้มแจ่มใส หรือเศร้าหมอง จะทำให้เกิดร่องรอยบนผิวหนังอย่างเห็นได้ชัด
โครงสร้างผิวหนัง
     1. ชั้นหนังกำพร้า (Epidermis)  คือ ผิวหนังที่อยู่ชั้นบนสุดปกคลุมอยู่บนหนังแท้มีลักษณะบางมาก มีความหนาตั้งแต่ 0.3 – 1.0 มิลลิเมตร โดยจะมีความหนาแตกต่างกันออกไปตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย โดยส่วนที่หนาที่สุดคือ  ฝ่าเท้า และฝ่ามือ ส่วนที่บางที่สุดคือ  หนังตา และหนังหู หนังกำพร้านี้จะประกอบไปด้วยเซลล์เรียงซ้อนกันเป็นชั้น ๆ โดยเริ่มจากเซลล์ชั้นในสุดซึ่งอยู่ติดกับหนังแท้ โดยทำหน้าที่สร้างเซลล์ขึ้นใหม่ตลอดเวลา เมื่อมีการสร้างเซลล์ขึ้นมาใหม่เซลล์ชั้นที่อยู่ด้านบนก็จะดันตัวเลื่อนออกมาทดแทนกันไปจนถึงเซลล์ชั้นบนสุด ซึ่งจะค่อย ๆ แห้งตาย และหลุดออกมากลายเป็น      ขี้ไคลในที่สุด ในชั้นของหนังกำพร้านี้ไม่มีหลอดเลือด เส้นประสาท และต่อมใด ๆ  เป็นเพียงทางผ่านของรูเหงื่อ เส้นขน และไขมันเท่านั้น
 นอกจากนี้ในชั้นหนังกำพร้าของเรายังมีเซลล์ที่เรียกว่า เมลานิน (Melanin) ปะปนอยู่ ซึ่งเซลล์เมลานินนี้เป็นตัวบ่งบอกถึงสีผิวของเรา โดยผู้ที่มีเซลล์เมลานินมาก ผิวก็จะมีสีคล้ำ ส่วนผู้ที่มีเซลล์เมลานินน้อยผิวก็จะมีสีขาว ทั้งนี้เซลล์เมลานินจะมีมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับตัวบุคคล และเชื้อชาติที่แตกต่างกันออกไป นอกจากเซลล์เมลานินจะทำหน้าที่เป็นตัวบ่งบอกถึงลักษณะของสีผิวแล้ว เซลล์เมลานินยังมีคุณสมบัติในการดูดซับและป้องกันรังสีอัลตราไวโอเลตไม่ให้เข้ามาทำลายเซลล์ผิวหนัง ดังนั้นผู้ที่มีเซลล์  เมลานินมาก หรือคนที่มีผิวคล้ำจึงทนแสงแดดได้ดีกว่าผู้ที่มีเซลล์เมลานินน้อย หรือผู้ที่มีผิวขาวนั้นเอง
     2. ชั้นหนังแท้ (Dermis)  เป็นชั้นผิวหนังที่อยู่ชั้นล่างถัดไปจากชั้นหนังกำพร้า ชั้นหนังแท้นี้จะมีความหนากว่าหนังกำพร้ามาก ประกอบด้วยเส้นใยพังผืดเป็นส่วนใหญ่ประสานไขว้กันไปมา ผิวหนังชั้นนี้ประกอบไปด้วยเนี้อเยื่อคอลลาเจน (Collagen) และ อีลาสติน (Elastin) หลอดเลือดฝอย เส้นประสาท กล้ามเนื้อเกาะเส้นขน ต่อมไขมัน    ต่อมเหงื่อ และขุมขนกระจายอยู่ทั่วไป โดยส่วนที่ตื้นที่สุดของชั้นนี้จะมีลักษณะยื่นเป็นปุ่มนูนขึ้นมาสวมกับช่องทางด้านลึกของหนังกำพร้า ในปุ่มนูนนี้มีหลอดเลือดฝอย และปลายประสาทรับความรู้สึก ซึ่งหลอดเลือดฝอยที่มีอยู่เป็นจำนวนมากนี้ทำหน้าที่นำเลือดมาหล่อเลี้ยงผิวหนัง ส่วนเส้นประสาทเพื่อรับความรู้สึกต่าง ๆ โดยจะกระจายอยู่ทั่วไป ส่วนต่อมเหงื่อนั้นทำหน้าที่ระบายความร้อนออกจากร่างกาย และต่อมไขมันพบได้ในผิวหนังเกือบทุกส่วนที่มีขน และชั้นหนังแท้ยังเป็นผิวหนังชั้นที่ผลิตขน และผมของร่างกายอีกด้วย ถัดลงไปจากชั้นหนังแท้จะเป็นเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง ซึ่งประกอบไปด้วยเนื้อเยื่อไขมันเป็นส่วนใหญ่ ทำหน้าที่คล้ายฉนวนกันความร้อน และเป็นคล้ายเบาะ      กันกระเทือนให้แก่อวัยวะภายในร่างกาย นอกจากนี้ในส่วนลึกของหนังแท้จะมีเส้นใยพังผืดประสานกันอยู่ค่อนข้างแน่น ซึ่งความยืดหยุ่นของผิวหนังของมนุษย์เราอยู่ที่เส้นใยพังผืด และเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง ดังนั้นในคนชราเส้นใยพังผืดยืดหยุ่นลดน้อยลงจึงส่งผลให้เกิดเป็นรอยย่นหย่อนยาน


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น